ตัวกรองผลการค้นหา
หรือคุณกำลังค้นหา กระบวนจีน, ศิลปะพื้นบ้าน, คติชาวบ้าน
สถาปัตยกรรม
หมายถึง[สะถาปัดตะยะกำ] น. ศิลปะและวิทยาเกี่ยวกับงานก่อสร้างที่ประกอบด้วยศิลปลักษณะ. (ส. สฺถาปตฺย + กรฺมนฺ).
กระบวนจีน
หมายถึงน. วิธีการที่นำแบบอย่างศิลปะของจีนมาดัดแปลงหรือประกอบในงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และ มัณฑนศิลป์ของไทย, เรียกลวดลายผ้าแพร โดยมากเป็นรูปประแจ กะแปะ มังกร ว่า ลายกระบวนจีน.
ศิลปะพื้นบ้าน
หมายถึงน. ศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ หัตถกรรม ที่ชาวบ้านได้สร้างสรรค์ขึ้นจากการเรียนรู้และฝึกปรือในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน เป็นงานสร้างสรรค์ของสังคมชาวบ้าน และได้พัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน.
คติชาวบ้าน
หมายถึงน. เรื่องราวของชาวบ้านที่เป็นของเก่าเล่าต่อปากและประพฤติสืบ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคนในรูปคติความเชื่อ ประเพณี นิทาน เพลง ภาษิต ปริศนาคำทาย ศิลปะ สถาปัตยกรรม การละเล่นของเด็ก เป็นต้น, วิชาที่ว่าด้วยเรื่องเหล่านั้น.
ศิลปะสถาปัตยกรรม
หมายถึงน. ศิลปะลักษณะด้านสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในอาคารที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงาม เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม.
ศิลปกรรม
หมายถึงน. สิ่งที่เป็นศิลปะ, สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ, เช่น งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรมจัดเป็นศิลปกรรม.
ทัศนศิลป์
หมายถึงน. ศิลปกรรมประเภทหนึ่งซึ่งแสดงออกด้วยลักษณะที่เป็นรูปภาพหรือรูปทรง รับรู้ได้ด้วยการเห็นและสัมผัสได้ด้วยการจับต้อง เช่น ภาพจิตรกรรม ภาพพิมพ์ งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม.
ไขรา
หมายถึงน. ส่วนของหลังคาอาคารสถาปัตยกรรมไทย เฉพาะตอนที่ยื่นพ้นผนังอาคารออกไปยังขอบหลังคา, ถ้าส่วนที่ยื่นนั้นอยู่ตรงหน้าจั่ว เรียก ไขราหน้าจั่ว, ถ้าอยู่ปลายหน้าบัน เรียก ไขราหน้าบัน, ถ้าเป็นหลังคาปีกนก เรียก ไขราปีกนก, ถ้าเป็นหลังคาบังสาดตามขนาดยาวของเต้า เรียก ไขราจันทันเต้า หรือ ไขราเต้า.
หางหงส์
หมายถึงน. ชายผ้านุ่งที่จีบโจงแล้วไปเหน็บไว้ข้างหลัง ปล่อยให้จีบคลี่ห้อยจากเอวเบื้องหลังลงมาถึงหว่างขาอย่างตัวพระแต่งในละครรำ; เรียกเครื่องประดับที่ทำเป็นรูปคล้ายหางหงส์ติดตั้งอยู่ปลายรวยระกา หรือปลายตะเข้สันหลังคาของโบสถ์และพระที่นั่งเป็นต้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทย.
ลวดบัว
หมายถึงน. ส่วนประดับที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม ใช้ตกแต่งตรงส่วนขอบของพื้นผนังด้านล่างและด้านบน เพื่อประสานระหว่างพื้นที่ต่างระดับหรือพื้นที่ในแนวนอนกับแนวตั้ง เช่น เพดานกับผนัง พื้นกับผนัง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแถบที่มีความกว้างตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ยาวทอดไปตามมุมหรือขอบ เช่น เชิงผนัง ขอบเพดาน อาจเป็นปูนที่ปั้นแต่งเป็นรูปแบบต่าง ๆ เป็นไม้แกะสลักไสเซาะเป็นลวดลาย หรือเป็นไม้แถบขนาดเล็กไม่มีลวดลายที่ช่างทั่วไปมักเรียกว่า ไม้มอบ, บัว ก็เรียก.
จำปา
หมายถึงน. (๑) ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Michelia champaca L. ในวงศ์ Magnoliaceae ดอกสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกใหญ่ยาว มีหลายกลีบ กลิ่นหอม; สีเหลืองอมส้มอย่างดอกจำปา; เครื่องหน้าซุงว่าวจุฬา รูปเป็นกลีบเหมือนกลีบดอกจำปา; แหนบรูปคล้ายกลีบดอกจำปาซึ่งติดอยู่กับแกนในประแจจีน สำหรับยันไม่ให้กุญแจหลุดออกจากกัน, จัมปา ก็ใช้; ไม้ไผ่ที่จักปลายด้านหนึ่งเป็น ๔-๕ แฉก แล้วเอาชิ้นไม้ขัดให้บานออกเป็นรูปดอกจำปา ใช้เสียบปลายไม้สำหรับสอยผลไม้; เครื่องยึดธรณีบนของประตูให้ติดกับกรอบเช็ดหน้าของอาคารประเภทโบสถ์ วิหาร ในสถาปัตยกรรมไทย ทำด้วยไม้ เป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าตกแต่งเป็นเส้นขอบของดอกไม้หรือแต่งให้เป็นรูปดอกสี่กลีบที่เรียกว่า ดอกประจำยาม. (๒) (ถิ่น-อีสาน) ต้นลั่นทม. (ดู ลั่นทม).
บัว
หมายถึงน. ชื่อเรียกไม้นํ้าหลายชนิดหลายสกุลและหลายวงศ์ คือ สกุล Nelumbo ในวงศ์ Nelumbonaceae มีเหง้ายาวทอดอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบเรียบ อยู่ห่าง ๆ กัน ก้านใบและก้านดอกแข็ง มีหนามสากคาย ชูใบและดอกขึ้นพ้นผิวนํ้า เช่น บัวหลวง (N. nucifera Gaertn.) ดอกสีขาวหรือชมพู กลิ่นหอม พันธุ์ดอกสีขาวเรียก สัตตบุษย์ พันธุ์ดอกสีชมพูเรียก ปัทม์ หรือ สัตตบงกช ดอกใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เมล็ดกินได้, สกุล Nymphaea ในวงศ์ Nymphaeaceae มีเหง้าสั้นอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบเรียบหรือจักอยู่ชิดกันเป็นกระจุก ก้านใบและก้านดอกอ่อนไม่มีหนาม ใบลอยอยู่บนผิวนํ้า ดอกโผล่ขึ้นพ้นผิวนํ้า ผลจมอยู่ในนํ้าเรียก โตนด เช่น บัวสาย (N. lotus L. var. pubescens Hook.f. et Thomson) ขอบใบจัก ดอกสีขาวหรือแดง ก้านดอกเรียก สายบัว กินได้ พันธุ์ดอกสีขาวเรียก สัตตบรรณ บัวเผื่อน (N. nouchali Burm.f.) ขอบใบเรียบ ดอกสีม่วงอ่อน, สกุล Victoria ในวงศ์ Nymphaeaceae เช่น บัวขอบกระด้ง หรือ บัววิกตอเรีย [V. amazonica (Poeppig) Sowerby] มีเหง้าสั้นอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลมใหญ่ ขอบยกขึ้นคล้ายกระด้ง ลอยอยู่บนผิวนํ้า ใต้ใบ ก้านดอก และด้านนอกของกลีบดอกชั้นนอกมีหนามแหลม ดอกใหญ่ สีขาว หอมมาก; ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ทำเป็นรูปกลีบบัว ติดอยู่บนหัวเสา เรียกว่า บัวหัวเสา หรือที่ส่วนล่างของฐานเป็นต้น เรียกว่า ฐานบัว, ส่วนประดับที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม ใช้ตกแต่งตรงส่วนขอบของพื้นผนังด้านล่างและด้านบน เพื่อประสานระหว่างพื้นที่ต่างระดับหรือพื้นที่ในแนวนอนกับแนวตั้ง เช่น เพดานกับผนัง พื้นกับผนัง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแถบที่มีความกว้างตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ยาวทอดไปตามมุมหรือขอบ เช่น เชิงผนัง ขอบเพดาน อาจเป็นปูนที่ปั้นแต่งเป็นรูปแบบต่าง ๆ เป็นไม้แกะสลักหรือไสเซาะเป็นลวดลาย หรือเป็นไม้แถบขนาดเล็กไม่มีลวดลายที่ช่างทั่วไปมักเรียกว่า ไม้มอบ, ลวดบัว ก็เรียก, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายดอกบัว เช่น โคมบัว.